ทุนนิยมในฐานะศาสนาและมายาคติเรื่องธรรมชาติของทุน
บทวิเคราะห์ว่าด้วยข้อวินิจฉัยต่อทุนนิยมโดยวอลเตอร์ เบนจามิน
เฉียนสื่อ. บทความต้นฉบับ: Capitalism as Religion and The Myth of Capitalist Nature 9 มีนาคม 2019. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin
โดย เฉียนสื่อ
“เราอาจมองเห็นร่องรอยของศาสนาได้ในทุนนิยม กล่าวคือ ทุนนิยมมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความกังวล ความทุกข์ทรมาน และความปั่นป่วนที่ศาสนาในอดีตเคยพยายามตอบสนอง”
“ทุนนิยมอาจเป็นตัวอย่างแรกของลัทธิความเชื่อที่สร้างความรู้สึกผิดแทนที่จะสร้างการไถ่บาป”
– วอลเตอร์ เบนจามิน, Capitalism as Religion
“มายาคติไม่ได้ปฏิเสธสิ่งต่างๆ กลับกัน หน้าที่ของมันคือพูดถึงสิ่งเหล่านั้น เพียงแต่มันทำให้สิ่งเหล่านั้นบริสุทธิ์ ให้ดูไร้เดียงสา สร้างความชอบธรรมด้วยการบอกว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติและเป็นนิรันดร์ และให้ความกระจ่างที่ไม่ใช่ในรูปของคำอธิบาย แต่ด้วยการยืนยันข้อเท็จจริง”
– โรล็อง บาร์ตส์, Mythologies: Myth Today
มีวิธีการมากมายในการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงระบบแห่งการครอบงำ กดขี่ กีดกัน แปลกแยก และปล้นชิงที่เราเรียกว่าทุนนิยมนี้ สำหรับวอลเตอร์ เบนจามิน วิธีเดียวที่จะเข้าใจทุนนิยมคือการมองมันเป็นระบบศาสนา ระบบที่คนแต่ละคนต้องมีส่วนร่วมในพิธีกรรมที่ปราศจากทั้งเทววิทยาและหลักคำสอน แต่ในท้ายที่สุด กลับต้องทำ “เครื่องบูชา” เพื่อสนองความทะเยอทะยานทางโลกของตนให้เต็มอิ่ม ความเคารพบูชาที่มีต่อสินค้า (commodity) ในระดับเดียวกับลัทธิความเชื่ออื่นๆ นี้สะท้อนออกมาผ่านศัพท์เฉพาะในโลกทุนนิยม เช่น การลงทุน ตลาดกระทิง ตลาดหมี ราคาเสนอ แนวโน้มตลาด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สิทธิพึงมี 9-5 เป็นต้น คำศัพท์เหล่านี้ล้วนมีความหมายพิเศษในศาสนาทุนนิยม ทุกคำล้วนปลุกเร้าให้เกิดความเข้าใจใน “กลไกภายใน” ของทุนนิยมในระดับของลัทธิที่ดำรงอยู่ผ่านการกล่าวถึงและการปฏิบัติอย่างศรัทธา แม้แต่สิ่งที่เป็นวัตถุในการหมุนเวียนหรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอย่าง เงินกระดาษ หรือ เงินเฟียต ก็เป็นเพียงตัวแทนทางกายภาพของเครื่องรางในลัทธิทุนนิยมนี้ เครื่องรางเหล่านี้ดูเหมือนจะมีความสำคัญน้อยลงในยุคของการแปลงเป็นดิจิทัลและข้อมูลความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม ผลรวมของการปฏิบัติเหล่านี้ได้ถูกแปลงให้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ต้องกระทำ กลายเป็นการทำพิธีกรรมของกระบวนการแปลกแยกที่พรากแรงงาน (labour) ออกจากตัวแรงงานเอง (labourer) พิธีกรรมแห่งการทำงานและความเหนื่อยล้า จริยธรรมแห่งการทำงานแบบโปรเตสแตนต์ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่และความน่าเคารพในตัวของมันเอง
การให้ภาพและทำความเข้าใจทุนนิยมในฐานะที่เป็นศาสนาสะท้อนถึงประเด็นสำคัญที่วอลเตอร์ เบนจามินกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อจิตใจมนุษย์ การหมักหมมของความรู้สึกผิดที่ถูกทำให้เป็นสากล ด้วยการทำให้กระบวนการของระบบทุนนิยมกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความจริงในหน้าที่ประจำวันของสังคม (daily societal function) ก่อให้เกิดความเชื่อที่ว่าการถูกปล้นชิงนี้เป็นสิ่งที่เราสมควรได้รับ เป็นสภาพแห่งความพินาศ (damnation) ที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ เพราะศาสนานี้คือศาสนาแห่งการสร้างความรู้สึกผิด แนวคิดแบบคาลแว็งนิสต์เรื่อง “ความเสื่อมทรามโดยสมบูรณ์” (Total Depravity) ปรากฏเป็นรูปธรรม โดยปราศจากความหวังที่จะล้มล้างหรือไถ่บาป เบนจามินตีความแนวคิดของแม็กซ์ เวเบอร์ใหม่ในลักษณะที่กลับตาลปัตร
นับจากจุดนี้ เราอาจใช้สัญวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศึกษาสัญญะ (ทางภาษา ภาพ วัตถุ ท่าทาง ฯลฯ) เพื่อขยายความและเน้นย้ำคุณลักษณะสำคัญในข้อโต้แย้งของวอลเตอร์เบนจามินเกี่ยวกับทุนนิยมรวมถึงมายาคติว่า
“ทุนนิยมคือธรรมชาติของมนุษย์” ซึ่งมักถูกกล่าวอ้างโดยผู้สนับสนุนลัทธิทุนนิยมอย่างแข็งขัน แนวคิดเรื่องมายาคตินี้มีรากฐานมาจาก Mythologies ของโรล็อง บาร์ตส์ ซึ่งเป็นหนังสือและชุดบทความที่สำรวจพัฒนาการทางวัฒนธรรมและการรื้อฟื้นสังคมแบบฟอร์ดิสต์ในฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เราอาจนิยามได้ว่ามายาคติคือระบบสัญญะขั้นที่สอง (second order semiotic system) หมายความว่าสัญญะ (sign) ที่มีอยู่เดิมถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสัญญะบ่งชี้ใหม่ (signifiers) ในความสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกแทนความหมาย (signified) กระบวนการนี้คือการสร้างความหมายที่สามารถถูกทำให้เด่นชัดในหมู่ผู้คนในสังคมวงกว้างในสังคมหนึ่งๆ
ตัวอย่างคลาสสิกคือหน้าปกนิตยสารเล่มนี้ ซึ่งแสดงภาพชายผิวดำในเครื่องแบบฝรั่งเศสกำลังทำท่าวันทยาหัตถ์ต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ก็ธงชาติฝรั่งเศส อันเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ ภาพนี้เป็น สัญญะบ่งชี้ (signifier) ที่เชื่อมโยงไปสู่มายาคติเกี่ยวกับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความจงรักภักดีต่ออัตลักษณ์และชาติฝรั่งเศส มายาคติดังกล่าวมีบทบาทในการลบเลือนบริบททางประวัติศาสตร์และบริทบทเชิงโครงสร้าง สร้างให้มันกลายเป็นความเข้าใจที่บริสุทธิ์และย่อยง่าย บิดเบือนความซับซ้อนให้กลายเป็นความเรียบง่ายชัดเจน เพื่อให้ผู้คนในวงกว้างสามารถเข้าใจได้โดยง่าย มายาคติจึงเข้ามาแทนที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ว่างเปล่า ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ภาพภาพนี้คือตัวแทนของบรรทัดฐานที่ยอมรับได้และได้รับการยอมรับโดยสาธารณะ มันแฝงไว้ซึ่งแก่นที่ถูกทำราวกับว่าเป็นเนื้อแท้และคุณลักษณะของภาพภาพนั้น เป็นการทำให้แนวคิดหนึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงภาพสะท้อนของสิ่งที่ถูกแทนความหมาย
บาร์ตส์อธิบายเพิ่มเติมว่ากระบวนการสร้างมายาคตินี้ (mythologizing) มีผลในการลดทอนความเป็นการเมืองของสิ่งที่ถูกแทนความหมาย ทำให้ผู้บริโภคมายาคติแต่ละคนสูญเสียความสามารถในการแยกแยะกลไกภายในของมายาคตินั้นๆ เป้าหมายของนักสัญวิทยาและจุดประสงค์ของสัญวิทยาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการทำความเข้าใจและศึกษาสัญญะ แต่ยังมุ่งเน้นไปที่การสำรวจว่า เราจะสามารถแยกแยะและคลี่คลายความลึกลับ (demystified) ของการแปรรูปสัญญะเหล่านั้นให้กลายเป็นมายาคติที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้และกลายเป็น “ความจริงสามัญระดับสำนึก” ได้อย่างไร แนวคิดที่บาร์ตส์นำเสนอสามารถมองได้ว่าเป็นการใช้งานศาสตร์แห่งสัญญะและความสัมพันธ์ของสัญญะเพื่อเป็นอาวุธเพื่อต่อต้าน “จักรวรรดิสามัญสำนึก” ของชนชั้นกระฎุมพี (bourgeoisie empire of Common Sense)
การเชื่อมโยงทุนนิยมกับศาสนาไม่ใช่กระบวนการของการทำให้ทุนนิยมเป็นมายาคติ การตีความเช่นนั้นอาจเป็นการเข้าใจงานเขียนของเบนจามินผิดไป เบนจามินมุ่งแยกแยะและระบุลักษณะของทุนนิยมที่มีความคล้ายคลึงกับศาสนา ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความเป็นการเมืองอย่างลึกซึ้ง เป้าหมายของเขาคือการคลี่คลายความลึกลับของกลไกภายในของระบบทุนนิยมซึ่งเวเบอร์เคยวิเคราะห์ไว้แล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะต่างๆ ที่เวเบอร์แยกแยะไว้เหล่านั้น กลับดูเหมือนจะได้รับการแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นประหนึ่งมายาคติ (mythic form) ผ่านแนวคิดเรื่องแรงงานและทุนของเวเบอร์เอง ความเป็นมายาคติเหล่านี้เองที่ดูจะกักขังความเข้าใจต่อทุนนิยม ซ้ำยังปฏิเสธความสามารถในการกระทำการของปัจเจกอีกด้วย (agent-denying)
หนึ่งในมายาคติที่ว่าคือความเชื่อว่าทุนนิยมคือธรรมชาติของมนุษย์ เป็นสิ่งที่อยู่ใน เทลอส (telos) หรือเป้าหมายปลายทางของการเป็นมนุษย์ ที่จะต้องทำงานและอุทิศตนให้กับแรงงานเพื่อเก็บเกี่ยวความพึงพอใจและความสำเร็จในรูปแบบใดก็ตามที่สามารถได้รับ ด้วยเหตุนี้ นักสัญวิทยาจึงมีหน้าที่คลี่คลายสองสิ่งนี้ออกจากกัน นั่นคือ ทุนนิยมและธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อให้งานนี้ง่ายขึ้น พวกเขาอาจตั้งสมมติฐานว่า เราสามารถวิเคราะห์วิพากษ์ความเป็นมายาคติของทุนนิยมได้ผ่านแนวทางที่เบนจามินเสนอไว้ มายาคติที่ตัดขาดทุนออกจากบริบทการพัฒนาและกระบวนการทางประวัติศาสตร์ของมัน ในบริบทปัจจุบัน มายาคตินี้สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านพิธีกรรมของการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ (cost-benefit analysis) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในนโยบายองค์กร อันเป็นวลีที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในห้องประชุมอันทรงเกียรติ แม้นี่จะเป็นเพียงการวิเคราะห์ระดับผิวเผินจากสิ่งที่เห็นได้บนฉากหน้า แต่ใช่ว่ามันจะไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลึกซึ้งและชัดเจนกว่าคือกระบวนการสะสมทุนและการล้อมรั้ว (enclosure) อย่างต่อเนื่อง อันเป็นธรรมชาติอันโหดร้ายของการทำให้ความพินาศกลายเป็นรูปธรรม กระบวนการซึ่งถูกเล่าขานว่าเป็น “บาปกำเนิด” (Original Sin) ของมนุษยชาติในยุคสมัยใหม่ แนวคิดนี้ถูกเสนอไว้ครั้งแรกโดยผู้ติดตาม “นักบุญมาร์กซ์” (Saint Marx) จากนั้นจึงถูกขยายความโดยผู้ที่ไม่อาจตระหนักว่านี่เป็นกระบวนการที่มีความเป็นการเมืองอย่างลึกซึ้งและยังคงดำเนินต่อไป
จนทำให้หลายคนต้องเผชิญกับความยากจนและการถูกปล้นชิง เมื่อมองไม่เห็นความเป็นการเมือง มายาคติแรกจึงนำไปสู่มายาคติที่สอง นั่นคือการทำให้มายาคติดังกล่าวกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ
แนวคิดที่ว่าทุนนิยมคือธรรมชาติของมนุษย์สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง การทำให้เป็นสิ่งของ (reification) แนวคิดเรื่องการสะสมทุน เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับแรงงาน การทำธุรกรรม ค่าแรง และอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของมายาคติเกี่ยวกับการดำรงอยู่ที่ดูเหมือนจะถาวรของทุน และถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นมายาคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติ มนุษย์ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะนั่นคือธรรมชาติ มนุษย์ต้องยอมจำนนต่อระบอบนี้ เพราะนั่นคือธรรมชาติ มนุษย์ต้องยอมรับสถานะของตนเอง เพราะนั่นคือธรรมชาติ ธรรมชาติจึงถูกบิดเบือนและทำให้ว่างเปล่าด้วยมายาคติ กระบวนการของธรรมชาติถูกปิดบัง “ธรรมชาติของมนุษย์” เข้ามาแทนที่พลวัตอันซับซ้อนในชีวิตประจำวัน และวิถีชีวิตที่หลากหลายของปัจเจกบุคคล ถูกลดทอนให้มาอยู่ภายใต้สัญญะบ่งชี้ที่ทำหน้าที่ควบคู่ไปกับทุน มายาคติจึงเล่นงานศักยภาพหรือพลังงานในการเปลี่ยนแปลงของการต่อสู้ โดยนำพลังดังกล่าวกลับมาอยู่ภายใต้ศัพท์แสงของการสำนึกผิดในศาสนาของทุน การหลีกหนีดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ความรู้สึกผิดที่สามารถระบุได้ยังคงดำรงอยู่อย่างเป็นสากล
การปลดแอกจากทุนนิยมราชการจะทำลายรากฐานของความรู้สึกผิดที่จำเป็นต่อการทำให้คนคนหนึ่งทำงาน
ดังนั้น การระบุว่าทุนนิยมคือศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องผิวเผิน ดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ มันคือการวินิจฉัยสภาพเรื้อรังที่สังคมมนุษย์เผชิญอยู่ โดยพยายามแยกแยะกลไกเชิงพิธีกรรมภายในระบบนั้นออกมา อย่างไรก็ตาม ข้อวินิจฉัยย่อมไร้ประโยชน์หากไร้ซึ่งทางรักษา สัญวิทยาจึงเข้ามาทำหน้าที่ระบุขอบเขตของโรคร้าย ความลึกซึ้งและใหญ่โตของพิธีกรรมที่ปรากฏผ่านการสร้างมายาคติเรื่องความเป็นธรรมชาติของทุนนิยม โดยชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าจะเป็นทางออกที่หล่อหลอมขึ้นผ่านการทำความเข้าใจบริบทของทุนนิยม (contextuality) ทางออกดังกล่าวคือการตระหนักว่าทุนนิยมไม่ใช่สิ่งในตัวมันเอง (thing-in-itself) ซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นระบบของการครอบงำที่ทำงานด้วยกลไกที่มีความเป็นการเมืองอย่างลึกซึ้ง คือการคืนความเป็นผู้กระทำการทางการเมืองให้กับผู้ที่ถูกปล้นชิงและถูกทำให้แปลกแยก การกระทำใดๆ ที่พยายามบ่อนทำลายมายาคติดังกล่าว จึงเป็นการเมืองของการยืนยันเช่นเดียวกับการเมืองของการหาทางออก เป็นการทำลายแนวคิดอันเป็นหัวใจของชนชั้นกระฎุมพีและยืนกรานในความเป็นเอกเทศของปัจเจกบุคคล
ปัจจุบันบทบาทของสัญศาสตร์และการวิเคราะห์สัญญะสามารถเป็นเครื่องมือและอาวุธในการทำความเข้าใจการแปรสภาพของทุนนิยมไปสู่ความเป็นอวัตถุ (immateriality) และความเป็นดิจิทัล (digitality) มากขึ้นได้ เมื่อสัญญะมีความสำคัญมากขึ้นในกระบวนการสะสมทุนแบบดิจิทัล สัญญะที่ถูกสร้างขึ้นจึงกลายเป็นรากฐานใหม่ของมายาคติใหม่ของทุนนิยม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะวิเคราะห์อาณาบริเวณที่สัญญะเหล่านี้ถูกสร้างและผลิตซ้ำ และทำความเข้าใจว่ามันกลายเป็นมายาคติอันยืนยง ซึ่งขัดขวางการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองที่มุ่งสู่การปลดปล่อยจากการกดขี่ของระบบทุนนิยมได้อย่างไร
างอิง
Barthes, R. (2013). Myth Today. In Mythologies. essay, Hill and Wang.
Benjamin, W. (1996). Capitalism as Religion. In Selected writings (pp. 288–291). essay, Belknap Press.
Löwy, M. (2009). Capitalism as Religion: Walter Benjamin and Max Weber, Historical Materialism, 17(1), 60-73. doi: 10.1163/156920609X399218
Marx, K., & Engels, F. (1990). Chapter 26: The Secret of Primitive Accumulation. In B. Fowkes (Trans.), Capital: a critique of political economy (pp. 873–876). essay, Penguin Books in association with New Left Review.